นโยบายการบริหารงานของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกปีบ โดยยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารราชการองค์การบริหารส่วนตำบลโคกปีบ ดังนี้
๑. หลักนิติธรรม คือ การตรากฎหมาย กฎ ระเบียบข้อบังคับและกติกาต่าง ๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม ตลอดจนเป็นที่ยอมรับของสังคมและสมาชิกในองค์กร โดยมีการยินยอมพร้อมใจและถือปฏิบัติร่วมกันอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม
๒. หลักคุณธรรม คือ การยึดถือและเชื่อมั่นในความถูกต้องดีงาม โดยการรณรงค์เพื่อสร้างค่านิยมที่ดีงามให้ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรหรือสมาชิกในองค์กรถือปฏิบัติ ได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความเสียสละ ความอดทนขยันหมั่นเพียร ความมีระเบียบวินัย เป็นต้น
๓. หลักความโปร่งใส คือ การทำให้องค์กรเป็นองค์กรที่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมาและสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ โดยการปรับปรุงระบบและกลไกการทำงานขององค์กรให้มีความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารหรือเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้โดยสะดวก ตลอดจนมีระบบหรือกระบวนการตรวจสอบและประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และช่วยให้การทำงานของภาครัฐและภาคเอกชนปลอดจากการทุจริตคอรัปชั่น
๔. หลักความมีส่วนร่วม คือ การทำให้องค์กรเป็นองค์กรที่ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้และร่วมเสนอความเห็นในการตัดสินใจสำคัญ ๆ ขององค์การบริหารส่วนตำบล โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีช่องทางในการเข้ามามีส่วนร่วม ได้แก่ การแจ้งความเห็น การไต่สวน สาธารณะ การประชาพิจารณ์การแสดงประชามติ หรืออื่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความสามัคคีและความร่วมมือกัน
๕. หลักความรับผิดชอบ ผู้บริหาร ตลอดจนคณะข้าราชการ ทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ ตั้งใจปฏิบัติภารกิจตามหน้าที่อย่างดียิ่ง โดยมุ่งให้บริการแก่ผู้มารับบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกต่าง ๆ มีความรับผิดชอบต่อความบกพร่องในหน้าที่การงานที่ตนรับผิดชอบอยู่และพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขได้ทันท่วงที
๖. หลักความคุ้มค่า ผู้บริหาร ต้องตระหนักว่ามีทรัพยากรค่อนข้างจำกัด ดังนั้น ในการบริหารจัดการจำเป็นจะต้องยึดหลักความประหยัดและความคุ้มค่า ซึ่งจำเป็นจะต้องตั้งจุดมุ่งหมายไปที่ผู้รับบริการหรือประชาชนโดยส่วนร่วม
กระผมได้กำหนดนโยบายการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบลโคกปีบ โดยมีจุดมุ่งหมายในการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลโคกปีบ ให้เป็นชุมชนน่าอยู่ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สาธารณูปโภค สาธารณูปการ และโครงสร้างพื้นฐานที่ดีและทั่วถึง ส่งเสริมสังคมและเศรษฐกิจให้มั่นคง มีสิ่งแวดล้อมที่ดี สุขภาพดี ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตย รักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรม ประเพณี และคุณธรรมอันดีงามของท้องถิ่น รวมทั้งภูมิปัญญาของท้องถิ่นสืบต่อไป มีการบริหารจัดการองค์กรที่เป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุมชนที่เข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้ แบ่งเป็นนโยบายการบริหาร ได้แก่ ๑. นโยบายการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ๒. นโยบายการพัฒนาด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ๓. นโยบายการพัฒนาด้านการจัดระเบียบชุมชน สังคมและการพัฒนาความสงบเรียบร้อย ๔. นโยบายการพัฒนาด้านการวางแผน การส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยว ๕. นโยบายการพัฒนาด้านการบริหารจัดการ ๖. นโยบายการพัฒนาด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ๗. นโยบายการพัฒนาด้านการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีของท้องถิ่นและ ภูมิปัญญาท้องถิ่น
ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๕๘/๕ กำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจัดทำรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นประจำทุกปีรายละเอียดของผลการปฏิบัติงานประจำปี ๒๕62 มีดังนี้
๑. นโยบายการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน จุดมุ่งหมายของการพัฒนา ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วในการคมนาคม และมีสาธารณูปการที่เพียงพอแก่ความต้องการของประชาชน ได้แก่ จัดให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคอย่างทั่วถึง พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร จัดให้มีและบำรุงไฟฟ้าหรือแสงสว่างอย่างทั่วถึง การก่อสร้าง ซ่อมแซมหรือปรับปรุงสิ่งสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ
๒. นโยบายการพัฒนาด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิต จุดมุ่งหมายของการพัฒนา การยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกระดับ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพ พลานามัยแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ มีสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็งและสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ปัจจุบัน ได้แก่ สนับสนุนและส่งเสริมการสาธารณสุข สนับสนุนและส่งเสริมการกีฬาและนันทนาการ สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุและผู้พิการ ส่งเสริมการสังคมสงเคราะห์และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชราและผู้ด้อยโอกาสทางสังคม การพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร และการสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
๓. นโยบายการพัฒนาด้านการจัดระเบียบชุมชน สังคมและการพัฒนาความสงบเรียบร้อย จุดมุ่งหมายของการพัฒนา ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ได้แก่ จัดให้มีการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
๔. นโยบายการพัฒนาด้านการวางแผน การส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยว จุดมุ่งหมายการพัฒนา ประชาชนมีรายได้เพียงพอแก่การดำรงชีวิตและมีคุณภาพชีวิตที่ดี และส่งเสริมเศรษฐกิจในระดับชุมชน ได้แก่ การส่งเสริมและสนับสนุน การฝึกอบรมและประกอบอาชีพของประชาชน พัฒนาการเกษตรระดับตำบล ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งร้านค้าชุมชนและส่งเสริมและสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวภายในตำบลให้ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
๕. นโยบายการพัฒนาด้านการบริหารจัดการ จุดมุ่งหมายของการพัฒนา ประชาชนสามารถรับบริการด้านต่าง ๆ จากองค์การบริหารส่วนตำบลได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว การปฏิบัติงานราชการขององค์กรเป็นไปด้วยความสุจริต เที่ยงธรรมและโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ได้แก่ การบริหารจัดการองค์กร เป็นไปด้วยความสุจริต เที่ยงธรรมและโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ การบังคับบัญชาพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลเป็นไปด้วย ความบริสุทธิ์ และยุติธรรม การนำหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเป็นแนวทางในการบริหารงาน การพัฒนาและเสริมสร้างบุคลากรของหน่วยงานให้มีความรู้ ความสามารถ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน การส่งเสริมให้ภาคเอกชนและประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารและการพัฒนาท้องถิ่นตามระเบียบกฎหมายที่กำหนดไว้ การพัฒนา ปรับปรุงเครื่องมือเครื่องใช้ในการปฏิบัติงานให้เพียงพอและเหมาะสม การก่อสร้างที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลและการปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ทางราชการมอบหมาย ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐในการสนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาล
๖. นโยบายการพัฒนาด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จุดมุ่งหมายของการพัฒนา องค์การบริหารส่วนตำบลมีสภาพแวดล้อมที่ดี เป็นชุมชนที่สะอาดและมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ได้แก่ การดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาและรักษาความสะอาดของถนน ทางเดิน ทางน้ำ และที่สาธารณะ และการกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
๗. นโยบายการพัฒนาด้านการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีของท้องถิ่นและ ภูมิปัญญาท้องถิ่น จุดมุ่งหมายของการพัฒนา การศึกษาของเด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพ รวมทั้งประชาชนมีคุณธรรม จริยธรรม มีความภาคภูมิใจและร่วมกันอนุรักษ์ไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น ได้แก่ บำรุงรักษาศิลปะ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น ส่งเสริมการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมและทะนุบำรุง ศาสนาทุกศาสนา และอนุรักษ์ส่งเสริมประเพณีและวัฒนธรรมของท้องถิ่น