เกษตรกรยุคใหม่: อาชีพทางเลือก (ทางรอด) ในยุคโควิด 19
ในบทความฉบับที่แล้วที่ได้กล่าวถึง แรงงานคืนถิ่นที่มีคนรุ่นใหม่หลังโควิด 19 อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ไทยต้องคว้าโอกาสดึงดูดแรงงานกลุ่มนี้อยู่เป็นกำลังสำคัญพัฒนาท้องถิ่นเพื่อพัฒนาภาคเกษตรในระยะข้างหน้า จากการสัมภาษณ์มุมมองเกษตรกรยุคใหม่ของ ธปท. เพื่อสำรวจแนวทางปรับตัวในยุคโควิด 19 ต่างเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดี หากแรงงานคืนถิ่นเลือกภาคเกษตรเป็นอาชีพ “ทางเลือก ทางรอด” ไปสู่การเป็นเกษตรกรยุคใหม่หรือผู้ประกอบการเกษตร (Agripreneur) เพื่อปรับตัวให้พร้อมรับโอกาสท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง
“บันได 4 ขั้น” เคล็ดลับการปรับตัวเข้าสู่ภาคเกษตร
สำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์คงกังวลว่า ผลลัพธ์ในการทำเกษตรจะเป็นอย่างไร เนื่องจากยังมีข้อจำกัดทั้งความรู้ ความสามารถ และปัจจัยการผลิต ผู้เขียนขอแบ่งปันเคล็ดลับในการทำเกษตรที่ได้รับโดยตรงจากตัวอย่างเกษตรกร สรุปได้คือ “บันได 4 ขั้น” เพื่อเสนอเป็นทางออก ปลดล็อกข้อจำกัด แต่อย่างไรก็ดี การเริ่มต้นด้วยทัศนคติและแรงบันดาลใจที่ดีต่อภาคเกษตรจะช่วยให้ก้าวข้ามข้อจำกัดได้เร็วมากขึ้น เช่น ยินดีที่จะทำงานกลางแจ้งและลงมือทำด้วยตนเอง
บันไดขั้นแรก “เรียนรู้” เนื่องจากเรายังมีข้อจำกัดอยู่ “ควรคำนึงถึงความอยู่รอดเป็นสำคัญ” การเริ่มต้นด้วยการศึกษาเคล็ดลับ และบทเรียนจากผู้อื่นมาลงมือทำด้วยตนเอง “โดยไม่ด่วนตัดสินใจทำอะไรตามกระแส” จะทำให้เกิดประสบการณ์ตรง หากยังมีข้อจำกัดด้านพื้นที่เพาะปลูก อาจเริ่มจากพื้นที่ขนาดเล็ก เงินลงทุนน้อยๆ หรือหากไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง การขอแบ่งเช่าจากญาติพี่น้อง จากเพื่อนบ้าน หรือขอผู้นำชุมชนใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณะถือเป็นทางออกที่น่าสนใจ
บันไดขั้นที่ 2 “พัฒนาทักษะ” เมื่อเรามีความพร้อมในการทำเกษตรแล้ว ควรเลือกตัดสินใจทำในสิ่งที่ตนเองชำนาญ เพื่อยกระดับทักษะฝีมือไปสู่อาชีพหลัก สร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง เช่น เลือกปลูกพืช หรือ เลี้ยงสัตว์ที่ตนเองถนัด เป็นต้น
บันไดขั้นที่ 3 “ขยับขยาย” ต่อยอดไปสู่การทำเกษตรเชิงพาณิชย์ โดยใช้เทคโนโลยีร่วมกับการปลูกพืช-เลี้ยงสัตว์ในขนาดปริมาณที่มากขึ้น หรือเน้นที่คุณภาพเพื่อพลิกบทบาทก้าวไปสู่ผู้ประกอบการเกษตร (Agripreneur) ที่มีทั้งความรู้ด้านเกษตร และสามารถวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้อย่างเหมาะสม
บันไดขั้นที่ 4 “ยั่งยืน” เมื่อเราสามารถสร้างฐานะจากการทำเกษตรได้แล้ว ควรที่จะวางแผนให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและอำนาจต่อรอง เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงตลาดได้ในระยะยาว เช่น การรวมกลุ่มก่อตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชน” เป็นต้น