อาชีพเพิ่มรายได้ “การเลี้ยงไก่ไข่” ทำง่าย รายได้ดีจริง
“ไข่” นับเป็นวัตถุดิบหลักที่ทุกครัวจะต้องมีวัตถุดิบนี้ติดไว้ ซึ่งการเลี้ยง “ไก่ไข่” เป็นอีกอาชีพที่น่าสนใจ แต่จำเป็นต้องมีความรู้และมีต้นทุนในการเริ่มต้นระดับหนึ่ง สำหรับการเลี้ยงไก่ไข่แบบง่ายๆ อาจจะไม่ถึงกับสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ก็พอจะเลี้ยงตัวเองได้ในระดับหนึ่งการเลี้ยงไก่ไข่จะลงทุนมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงเป็นสำคัญ www.ThaiSMEsCenter.com ได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการเลี้ยงไก่ไข่นำเสนอเป็นแนวทางสำหรับหลายคนที่อาจกำลังมองหาช่องทางอาชีพสร้างรายได้ให้กับตนเอง
สายพันธุ์ไก่ไข่ ในประเทศไทย
3 สายพันธุ์ด้วยกัน คือ ไก่โรดไทย ไก่ไข่ไทยกรมปศุสัตว์ และไก่ไข่เล็กฮอร์นขาวหงอนจักร ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป ดังนี้
1. ไก่โรดไทย (Rhode Thai)
เป็นไก่พันธุ์แท้กึ่งเนื้อกึ่งไข่ สามารถเลี้ยงเพื่อใช้ประโยชน์ได้ทั้งเนื้อและไข่ ลักษณะประจำพันธุ์คือ มีขนสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาล เปลือกไข่สีน้ำตาล ให้ไข่ฟองแรกได้เมื่ออายุประมาณ 168 วัน อัตราการให้ไข่ 94% ผลผลิตประมาณ 240 ฟองต่อตัวต่อปี 2. ไก่ไข่ไทยกรมปศุสัตว์ (DLD Layer Hen)
2. ไก่ไข่ไทยกรมปศุสัตว์ (DLD Layer Hen)
มีลักษณะประจำพันธุ์คือ ขนสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลเข้ม ขนปีกสีน้ำตาล สร้อยคอสีน้ำตาลเข้ม หงอนจักรใหญ่สีแดงสด เหนียงสีแดงใหญ่ ตุ้มหูแดงมีสีขาวปนเล็กน้อย ผิวหนังและแข้งมีสีเหลือง ปลายหางมีสีดำ เปลือกไข่สีน้ำตาลอ่อน ให้ไข่ฟองแรกเมื่ออายุ 169 วัน ผลผลิตประมาณ 290 ฟองต่อตัวต่อปี
3. ไก่ไข่เล็กฮอร์นขาวหงอนจักร (Single Comb White Leghorn)
เป็นไก่พันธุ์แท้ มีลักษณะประจำพันธุ์คือ มีขนาดเล็ก ขนสีขาว เปลือกไข่สีขาว ไข่ดก ให้ไข่เร็ว เริ่มให้ไข่ได้เมื่ออายุ 4 เดือนครึ่ง ถึง 5 เดือน ผลผลิตประมาณ 300 ฟองต่อตัวต่อปี
การดูแลและเลี้ยงไก่ไข่ อย่างงาย
1. ทำกรงตับใส่ไก่ช่องละ 1-2 ตัว ขนาด กว้าง 50 ซม.สูง 66 ซม.โดยใช้ไม้ที่เรามีอยู่ เช่นไม้ไผ่ ไม้ยูคา พร้อมที่วางกรงตับมีความสูง 50 ซม.อุปกรณ์ให้อาหารใช้ไผ่ผ่าครึ่ง ที่ให้น้ำใช้ขวดน้ำที่ใช้แล้ว แบบง่าย ๆ ประหยัดต้นทุนต่ำ
2. ใช้ตาข่ายคลุมเพื่อกันยุงให้กับไก่ในเวลากลางคืน ให้อาหารไก่ไข่ระยะไก่รุ่นโปรตีน 13-15 เปอร์เซ็นต์ วันละ 80-100 กรัม/วัน ให้เช้า และบ่าย สังเกตการกินอาหารของไก่ ล้างรางน้ำวันละ 1 ครั้ง
3. ถ่ายพยาธิภายนอกภายในไก่ ก่อนไก่จะให้ไข่ และทำวัคซีนนิวคลาสเซิล อหิวาต์ไก่ และคอยสังเกตสุขภาพของไก่ ช่วงอากาศเปลี่ยนให้วิตามินละลายน้ำกับไก่ช่วงไก่เริ่มให้ไข่( 20-22สัปดาห์ ) ให้เปลี่ยนอาหารเป็นอาหารไก่ไข่ระยะให้ไข่โปรตีน 14- 15 เปอร์เซ็นต์ ให้วันละ 150-200 กรัม
4. ช่วงสัปดาห์ที่ 28-31 สัปดาห์ ให้อาหารไก่เพิ่มขึ้นตามจำนวนไข่ที่ให้ เก็บไข่ไก่อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง กลางวัน และก่อนเลิกงาน หมั่นดูแลตรวจสุขภาพไก่เป็นประจำทุกวัน ทำความสะอาดรางอาหารถ้ามีอาหารเปียกติดราง
5. ถ้าบริเวณใกล้เคียงมีศัตรูทำลายไก่ เช่น สุนัข งู ตัวเงินตัวทองให้ทำการป้องกันเช่นทำคอก หรือป้องกัน ไม่ให้เข้าไปทำลายไก่ได้
เลี้ยงไก่ไข่กับการลงทุน
ในที่นี้จะยกตัวอย่างการเลี้ยงไก่ไข่ที่ 500 ตัว ซึ่งหากใครจะเริ่มเลี้ยงน้อยกว่านี้ต้นทุนก็จะน้อยกว่านี้ด้วยเช่นกัน เริ่มจากโรงเรือนไก่ไข่ สำหรับไก่ไข่ที่มีอายุ 7 สัปดาห์ขึ้นไป แนะนำให้เลี้ยง 5 – 6 ตัว ต่อ พื้นที่ 1 ตารางเมตร
ดังนั้นที่จำนวนไก่สาว 500 ตัว จะต้องใช้โรงเรือนขนาด 6 x 14 = 84 ตร.ม. หลังคาสามารถกันแดดและฝนได้ อาจทำจาก กระเบื้อง สังกะสี หรือใบจาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณ และอุปกรณ์ที่หาได้สะดวกในท้องถิ่นนั้นๆ ราคาประมาณ 35,000 บาท
- ค่าอุปกรณ์เลี้ยงไก่ รวมทั้งกรงตับ 2 ชั้น รางน้ำ รางอาหาร คิดเฉลี่ย 65 บาทต่อตัว ดังนั้น = 500 x 65 = 32,500 บาท –
- ราคาพันธุ์ไก่ไข่สาว อายุ 16 สัปดาห์ ปัจจุบันราคาเฉลี่ยตัวละ 185 บาท คิดที่ 500 ตัว ประมาณ 92,500 บาท
- ค่าอาหาร ไก่สาวที่มีอายุ 16 สัปดาห์ ต้องการอาหารประมาณ 120 กรัมต่อตัวต่อวัน ดังนั้น 1 วันจะเสียค่าใช้จ่ายสำหรับอาหาร = 120 กรัม x 500 ตัว = 60,000 กรัม หรือ 60 กิโลกรัมๆละ 15 บาท
- ดังนั้นใน 1 วันจะต้องจ่ายเงินค่าอาหาร = 60 กก. x 15 บาท = 900 บาท ซึ่งไข่ชุดแรกจะมีขนาดเล็ก จากนั้นจะเริ่มมีขนาดฟองใหญ่ขึ้นตามลำดับ) เท่ากับว่า 14 วันแรกที่ลงไก่สาว x 900 บาท = 12,600 บาท
- รวมรายจ่ายทั้งหมด 35,000 + 32,500 + 92,500 + 12,600 = 172,600 บาท รายได้จากการเลี้ยงไก่ไข่
รายได้จากการเลี้ยงไก่ไข่
เมื่อไก่สาวเริ่มออกไข่ก็จะทำให้เริ่มมีรายได้จากการขายไข่ไก่ คิดค่าเฉลี่ยขั้นต่ำที่ 85% ของแม่ไก่ทั้งหมด ดังนั้นคิดจำนวนแม่ไก่ที่สามารถออกไข่ได้ = 500 x 0.85 = 425 ตัว ซึ่งไก่ไข่สามารถออกไข่วันละ 1 ฟอง แล้วขายราคาฟองละ 3 บาท ดังนั้นคิดรายได้จากการขายไข่ = 425 ตัว x 3 บาท = 1,275 บาท/วัน
หากหักรายจ่ายค่าอาหารออก 1,275 – 900 = 375 บาท/วัน ดังนั้นกำไรต่อเดือน = 11,250 บาท ก็ถือว่าพอใช้ได้สำหรับเป็นอาชีพเสริม หากเล็งเห็นความสำเร็จเช่นนี้ แนวคิดทำโรงเรือนขนาดเดียวกันเพิ่มอีกสัก 1 โรงเรือน รวมทั้งหมด 1,000 ตัว
ดังนั้นรายได้เฉลี่ยต่อเดือน = 22,500 บาท พอจะมองเห็นตัวเลขคร่าวๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ การดูแลเอาใจใส่ด้วย เพื่อการออกไข่ที่สม่ำเสมอ อีกทั้งการหาแนวทางลดต้นทุน ทางด้านอาหาร เนื่องจากรายจ่ายส่วนนี้เป็นรายวัน ก็จะช่วยส่งเสริมให้มีกำไรเพิ่มมากขึ้น
สำหรับไก่ไข่ปลดระวาง จะเป็นไก่ไข่ที่ให้ไข่ติดต่อกันประมาณปีครึ่ง (12-18 เดือน) ปรกติจะออกไข่ประมาณ 280 ฟอง/ปี สามารถสังเกตได้ง่ายคือ จะให้ไข่น้อยกว่า 60% ของรุ่นหรือล็อตเดียวกัน สามารถมีรายได้จากการขายเป็นไก่เนื้อได้ ดังนั้นควรหาไก่ไข่สาวมาทดแทนเพื่อผลผลิตที่ต่อเนื่องต่อไป
ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ ยังคงสามารถใช้งานได้ปกติ ไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ อาจตรวจเช็คอุปกรณ์ที่ชำรุดเพื่อทำการซ่อมแซมให้ใช้งานได้ต่อไป ส่วนของไก่ไข่สาว หากสามารถเพาะเลี้ยงเองได้ ก็จะช่วยลดต้นทุนส่วนนี้ลงไปได้
เคล็ดลับในการเลี้ยงไก่ที่ควรรู้
1.อุณหภูมิ
ไก่เป็นสัตว์ที่ไม่มีต่อมเหงื่อ การระบายความร้อนออกจากร่างกายไม่สามารถระบายออกทางผิวหนังได้ ต้องใช้การระบายความร้อนจากอากาศที่หายใจเข้าไปในปอด ส่วนน้ำที่ไก่กินเข้าไปบางส่วนจะระเหยรวมออกมากับอากาศที่ไก่หายใจออกเราจึงควรควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือนไม่ให้ร้อนจนเกินไป
2.การถ่ายเทหรือการระบายอากาศ
โรงเรือควรจะโปร่ง โล่ง อากาศหมุนเวียนได้ดี นอกจากช่วยลดความร้อน ยังลดปริมาณเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ในระดับหนึ่งด้วย
3.โปรแกรมแสงสว่าง
การเลี้ยงไก่ไข่แสงสว่างมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเมื่อไก่มีอายุ 6-22 สัปดาห์โดยค่อย ๆ เพิ่มแสงให้สัปดาห์ละ ½ -1 ชั่วโมง จนครบ 4 ชั่วโมง รวมแสงธรรมชาติอีก 12 ชั่วโมงต่อวัน รวมเป็น 16 ชั่วโมง จึงจะเพียงพอต่อความต้องการ
4.ความชื้นสัมพัทธ์
ประมาณ 50-80 % ซึ่งถ้าความชื้นในอากาศต่ำการระบายความร้อนออกจากร่างกายจะระบายได้ดีขึ้น ซึ่งประเทศไทยมักจะเจอปัญหาเรื่องความชื้นในฤดูฝน (ร้อน-ชื้น)
5.การให้อาหารไก่ไข่
เป้าหมายสำคัญของอาหารที่ใช้เลี้ยงไก่ไข่ต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุดและมีประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ได้ไข่ 1 ฟองต่ำที่สุด อย่างไรก็ตามต้นทุนการผลิตไข่ 1 ฟอง เป็นค่าอาหารประมาณ 60% ดังนั้นจะมีผลเกี่ยวข้องไปถึงเรื่องอัตราการให้ไข่ และขนาดตัวของไก่ด้วยซึ่งผู้เลี้ยงจะต้องเลือกสายพันธุ์ไก่ที่มีอัตราการให้ไข่ดกและขนาดตัวเล็กเพื่อประหยัดค่าอาหารนอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ฤดูกาลก็เป็นปัจจัยสำคัญ
*** เป็นข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ผู้สนใจควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม และต้นทุน-ค่าใช้จ่าย อาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับวิธีการเลี้ยง และตัวปัจจัยในแต่ละพื้นที่เป็นสำคัญ***
แม้ว่าการเลี้ยงไก่ไข่จะเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ดีแต่เกษตกรผู้เลี้ยงจำเป็นต้องศึกษาแนวทางการเลี้ยงอย่างละเอียดเพราะมีเทคนิคและวิธีการเลี้ยงที่ค่อนข้างมาก รวมถึงควรมีตลาดรองรับและรู้จักการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการช่วยลดต้นทุนของเกษตรกร จะช่วยให้มีกำไรได้มากขึ้นด้วย